ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม

ชื่อหลักสูตร

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม (สหสาขาวิชา)
Master of Arts Program in Human and Social Development

ชื่อปริญญา

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.) Master of Art (M.A)

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

  1. สถาบันวิจัยสังคม
  2. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์
  3. สถาบันเอเชียศึกษา
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผล

 ในปัจจุบันการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงในทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ดังในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8, 9 และ 10 ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายระดับประเทศที่ยึดถือ “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจการปกครองไปยังระดับท้องถิ่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วนและทุกระดับชั้น การพัฒนาคนและการยึดถือคนเป็นศูนย์กลางนี้ ทำให้สังคมไทยเกิดความต้องการบุคลากรทางด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมโดยใช้ความรู้ด้าน สหสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ประสบการณ์จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคม เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคองค์กรประชาชนในระดับต่างๆ
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและความต้องการบุคลากรทางด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมดังกล่าว จึงก่อให้เกิดความร่วมมือของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม และสถาบันเอเชียศึกษา ในการดำเนินการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม เป็นหลักสูตรสหสาขาวิชา อยู่ในความรับผิดชอบของบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อผลิตบัณฑิตที่จะทำหน้าที่เป็นนักวิจัยทางด้านการพัฒนามนุษย์และสังคม  หลักสูตรนี้เปิดสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2545 ต่อมาได้ปรับปรุงหลักสูตรและเริ่มใช้หลักสูตรปรับปรุงในปีการศึกษา 2548 ดังนั้นเพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมมากยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ มีการปรับโครงสร้างของหลักสูตร โดยยกเลิกแขนงวิชาและแผนการเรียน แผน ข ส่วนแผนการเรียน แผน ก แบบ ก2 ยกเลิกรายวิชาบังคับเฉพาะแขนงวิชา และเพิ่มรายวิชาบังคับเลือกแทนรายวิชาบังคับเฉพาะแขนงวิชา

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนสามารถในการประยุกต์ความรู้เพื่อการพัฒนาประเทศ
  2. เพื่อผลิตงานวิจัยหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านสหสาขาวิชาการทางสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศ

ปณิธานของหลักสูตร

สร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัย เพื่อการพัฒนาสังคม สามารถนำความรู้และประสบการณ์การวิจัยไปใช้ในงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง โดยมีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป
  2. มีคะแนนสอบ CU-TEP ตั้งแต่ 30 หรือ TOEFL ตั้งแต่ 400 หรือ IELTS ตั้งแต่ 3.0
  3. คณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้มีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษาได้

ค่าใช่จ่ายในการศึกษา

ภาคการศึกษาละ 24,500 บาท และค่าบำรุงการศึกษาอื่นๆ ตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด

ทุนสนับสนุน

ทุนผู้ช่วยสอน ทุนอื่นๆ ตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด และค่าตอบแทนในการทำงานวิจัยในฐานะผู้ช่วยวิจัยจากโครงการวิจัยต่างๆ ตลอดจนโอกาสในการทำงานวิจัยต่อไป

โครงสร้างหลักสูตร

นิสิตแผน ก แบบ ก (2) ต้องลงทะเบียนรายวิชาและมีหน่วยสะสมไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และนิสิตต้องลงทะเบียนวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต และผ่านการสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์ภายในภาคการศึกษาที่ 4 และทำการสอบวิทยานิพนธ์

แผน ก. (มีวิทยานิพนธ์)
 จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร36
จำนวนหน่วยกิตรายวิชาเรียน24
– รายวิชาบังคับ12
– รายวิชาบังคับเฉพาะแขนงวิชา9
– รายวิชาเลือก3
จำนวนหน่วยกิตวิทยานิพนธ์12


รายวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต

  • 2016501 ทฤษฎีการพัฒนาสังคม 3 (3-0-9)
    ทฤษฎีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-สังคมกระแสหลักและทางเลือกการพัฒนา ทฤษฎีความ ทันสมัยและการพัฒนา ทฤษฎีวิพากษ์ การพึ่งพา กระบวนการโลกาภิวัตน์ การเติบโต ขององค์การเหนือชาติและผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา ความขัดแย้ง ความกดดัน และพลังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในสังคมสมัยใหม่ การเกิดประชาสังคม การ ติดตามตรวจสอบกระบวนการพัฒนา
  • 2016503 วิธีวิทยาการวิจัยทางมนุษย์และสังคม 1 3(2-6-4)
    แนวคิดและวิธีวิทยาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เน้นการวิจัยเชิงปริมาณ การออกแบบการวิจัย การกำหนดและนิยามปัญหา การทบทวนวรรณกรรม การเลือกใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การตีความ และการรายงานผลการวิจัย ศึกษาภาคสนาม
  • 2016617 การพัฒนาเอเชียกับประชาคมโลก 3 (3-0-9)
    เอเชียในความหลากหลายที่กำลังเติบโต การแก้ปัญหาข้ามชาติในภูมิภาค ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาการกระทำที่ผิดกฎหมายข้ามแดน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย ความพยายามในการ แก้ปัญหาโดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจในความหลากหลาย และความร่วมมือระหว่างประชาชนและชาติในเอเชียและระหว่างประชาชนและชาติในเอเชียกับองค์กรหรือกลุ่มในและนอกภูมิภาค
  • 2016618 สัมมนาทฤษฎีและปฏิบัติการพัฒนา
    ทฤษฎีและปฏิบัติการพัฒนาโดยมุมมองจากสหสาขาวิชา การวิเคราะห์ข้อถกเถียงและการ โต้แย้งเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการพัฒนาในปลายยุคเสรีนิยมใหม่และยุคเปลี่ยนผ่าน การ เชื่อมโยงทฤษฎี นโยบาย และปฏิบัติการในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก การทำ ความเข้าใจการขับเคลื่อนนโยบายสังคม การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนโยบายพัฒนา สังคมของประเทศต่างๆ กับการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ

รายวิชาบังคับเลือก 9 หน่วยกิต

  • 2016504 วิธีวิทยาการวิจัยทางมนุษย์และสังคม 2 3(2-6-4)
    แนวคิดและวิธีวิทยาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การแก้ปัญหาการวิจัย การประยุกต์วิธีการแสวงหาความรู้ในการทำวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ วิธีการวิจัยเพื่อการพัฒนาในรูปแบบของการวิจัยลักษณะสหสาขาวิชา การกำหนด แนวทางและวิธีการพัฒนามนุษย์และสังคม ศึกษาภาคสนาม
  • 2016543 ปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนามนุษย์และสังคมในเอเชีย 3(2-6-4)
    การปฏิบัติการวิจัยสนามในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์และสังคมในภูมิภาคเอเชียโดยเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะในการวางแผนและการออกแบบการวิจัย เทคนิคการเก็บข้อมูลในสนามบริเวณพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเด็น เนื้อหามุ่งเน้นถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลกระทบที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมของประชาชนและชุมชนในบริเวณพื้นที่ชายแดน
  • 2016546 ผลกระทบทางสังคมและความขัดแย้งในการพัฒนา 3(2-6-4)
    การพัฒนาในฐานะปรากฏการณ์ในสังคม พลวัตของการพัฒนาและกระบวนการ เปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ผลกระทบทางสังคมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ประเทศ และภูมิภาค แนวทางการปรับรูปแบบการพัฒนาโดยใช้การมีส่วนร่วม กลยุทธ์การพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปฏิบัติการ ภาคสนามเพื่อให้เกิดความเข้าใจกรณีแวดล้อมและเงื่อนไขการเกิดผลกระทบทางสังคมจากโครงการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ และกลยุทธ์การลดผลกระทบดังกล่าว
  • 2016612 การพัฒนาเมืองและการวางแผน 3(3-0-9)
    ปัจจัยในการกำหนดที่ตั้ง บทบาทและทิศทางการขยายตัวของชุมชนเมืองในระดับต่างๆ ตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงมหานคร ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ของชุมชนเมือง ปัญหาและ แนวโน้มการเจริญเติบโต แนวทางการแก้และป้องกันปัญหาด้วยการวางผังเมือง
  • 2016616 โลกมุสลิมในยุคโลกาภิวัตน์ 3(3-0-9)
    แนวคิดโลกาภิวัตน์ แนวคิดพหุวัฒนธรรม แนวคิดภูมิภาคนิยม แนวคิดการบูรณาการทาง เศรษฐกิจ ภาพรวมโลกมุสลิมในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นปัญหาสำคัญในมิติความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
  • 2016619 การย้ายถิ่นระหว่างประเทศกับการพัฒนา
    กระแสและแบบแผนของการย้ายถิ่น แนวโน้มและนโยบายด้านการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนของประเทศต่าง ๆ ทั้งที่เป็นต้นทางและปลายทาง รวมทั้งกรอบกติกาความตกลงที่ เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคและพหุภาคี การย้ายถิ่นเพื่อการทำงานในภูมิภาคเอเชีย ลักษณะของการย้ายถิ่นข้ามประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค สภาพปัญหา แนวโน้ม และ ผลกระทบต่อกันในกระแสการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนในด้านทุน สินค้า ประชากร และ การพัฒนาในเอเชีย
  • 2016622 สังคมพหุวัฒนธรรมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3(3-0-9)
    พหุวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่และประเด็นของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมในบริบททั่วไป องค์ประกอบความเป็นพหุวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเด็นร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องในมิติเพศสภาพ อายุ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการสื่อสาร ความเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมไปถึงวิธีการปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
  • 2016623 ความเป็นธรรมทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3(2-6-4)
    แนวคิด หลักการ และแนวปฏิบัติด้านความเป็นธรรมทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับความมั่นคงของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับนโยบายในระดับต่างๆ และโครงสร้างทางสังคม ผลกระทบด้านสังคมและด้านอื่นๆ จากการพัฒนาที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงของมนุษย์และความไม่เป็นธรรมทางสังคม บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการในการนำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แนวทางในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในสังคม

รายวิชาเลือก 3 หน่วยกิต

  • 2016549 ภาครัฐและภาคประชาชนกับการพัฒนาสังคม 3(3-0-9)
    แนวคิดภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การ แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับองค์การ การบูรณาการองค์การในการพัฒนาสังคม องค์กรภาคประชาชน ขบวนการทางสังคม ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน บทบาทขององค์กรประชาชนในกระบวนการพัฒนาสังคม การจัดการความรู้ในการพัฒนา การท้าทายกระบวนทัศน์การพัฒนากระแสหลัก กระบวนทัศน์ทางเลือกการพัฒนาจากองค์กรประชาชน
  • 2016550 สัมมนาบทบาทพุทธศาสนาในสังคมไทย 3(3-0-9)
    แนวคิดความสำคัญของพุทธศาสนาต่อพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยบทบาทและหน้าที่ของพุทธศาสนาต่อการพัฒนาสังคมกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติทางศาสนาในระดับชุมชนและสังคม บทบาทการพัฒนาสังคมของสถาบันสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • 2016551 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในเอเชีย
    ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในเอเชีย ทั้งในระหว่างประเทศ และกลุ่มประเทศ ในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาคทั้งกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
  • 2016620 หัวข้อพิเศษในสาขาพัฒนามนุษย์และสังคม 3(2-6-4)
    หัวข้อที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในสาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม
  • 2016621 การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
    พัฒนาการการท่องเที่ยวในประเทศและภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวกับการพัฒนาที่เกิดจากนโยบายและปฏิบัติการของรัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ผลกระทบจาก นโยบายและพัฒนาการท่องเที่ยวต่อชุมชนและสังคม หลักการและรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การศึกษาทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม บทบาทของภาคส่วนต่างๆในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • 2016701 เอกัตศึกษา 1 3(0-0-12)
    หัวข้อเฉพาะเกี่ยวกับมนุษย์และการพัฒนาที่ผู้ศึกษาสนใจ โดยมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ
  • 2403640 ชีวิต ความเสี่ยง และความตาย 3(3-0-9)
    การรับรู้ ความหมาย และการบริหารจัดการชีวิต ความเสี่ยง และความตายในสังคมร่วมสมัยทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ประเด็นทางจริยธรรม กฎหมาย สังคมและ วัฒนธรรมว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ การตาย การุณยฆาตและการบริจาคอวัยวะ ทฤษฎีและการวิจัยที่เกี่ยวข้องวิถีปฏิบัติและนวัตกรรมทางสังคมเพื่อการรับมือความทุกข์ การสูญเสีย ความโศกเศร้า และการไว้อาลัย
  • 2403642 สังคม กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 3(3-0-9)
    สังคมวิทยากฎหมาย ความคิดในระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมาย ที่มาของ กฎหมาย การนำไปใช้ทั้งที่ดำเนินการได้และไม่ได้ การทบทวนบทบาทของสถาบันตุลาการ นิติบัญญัติ และหน่วยงานฝ่ายบริหาร โดยเน้นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เรื่องคัดเฉพาะที่น่าสนใจในปัจจุบัน
  • 5100703 สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการปรับตัวของมนุษย์ 3(3-0-9)
    ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติในมุมมองทางประชากรศาสตร์ทฤษฎีด้านภัยพิบัติและการประยุกต์ใช้ ระเบียบวิธีวิจัยภัยพิบัติการใช้ข้อมูลทางประชากรและกรณีศึกษา นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภัยพิบัติการปรับตัวของประชากรในพื้นที่เสี่ยง และคุณภาพชีวิต
    5100755 ความเหลื่อมล้ำทางเพศ สังคมและเศรษฐกิจ รูปแบบ สาเหตุและแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางเพศ สังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านประชากร แนวคิด ทฤษฎีพัฒนาการของความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง นโยบายและมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำ

วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต

  • 2016811 วิทยานิพนธ์ 12(0-4-8)