ปลูก “หญ้าแฝก” รับมือเอลนีโญ สืบสาน รักษาและต่อยอด

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การชี้แจงแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7” เมื่อเร็วๆ นี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาการใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินการมากว่า 30 ปี ปัจจุบันเข้าสู่แผนแม่บทพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ฉบับที่ 7 การรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเป็นกลไกความร่วมมือสำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริม ขยายผล ผลการรณรงค์ที่ผ่านมาเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเกษตรกร ชุมชน และพื้นที่เสื่อมโทรม รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในหลายมิติ แผนแม่บทฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการใช้หญ้าแฝกอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาการใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึง แผนแม่บทพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ฉบับที่ 6 ว่า เน้นการใช้หญ้าแฝกรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความเสี่ยงภัยพิบัติดินถล่ม ขณะเดียวกันการปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่อาศัยการดูแลใส่ใจของเกษตรกร เมื่อใบมีขนาดยาวขึ้นสามารถตัดและคลุมดินได้ และรากช่วยบำบัดน้ำเสีย แต่จากการวิจัยไม่พบว่าหญ้าแฝกมีสารพิษ สามารถสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ งานวิจัยยังพบว่าหญ้าแฝกแก้ปัญหาเรื่องดินถล่มได้ โดยในแผนแม่บทฉบับที่ 7 เน้นหนัก 3 เรื่องคือ สืบสาน รักษา และต่อยอด สืบสานการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ รักษาและเผยแพร่สร้างองค์ความรู้การใช้หญ้าแฝกเพื่อให้เป็นนวัตกรรมสังคม เพื่อให้เกิดวิธีคิดแบบใหม่ ในการใช้หญ้าแฝกในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะอนุรักษ์ดินและน้ำแบบเดิม และการรักษาเครือข่าย ขยายผลกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่แค่เกษตรกรที่ปลูกหญ้าแฝก แต่รวมถึงครู นักเรียน เครือข่ายในประเทศไทยและต่อไปถึงเครือข่ายหญ้าแฝกนานาชาติ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.chula.ac.th/clipping/130515/

เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566