ผู้เขียน : มนทกานต์ ฉิมมามี , อาทิชา นราวรวัชร และญานิกา อักษรนำ
บทคัดย่อ :
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสำรวจสถานการณ์การทำงานของคนพิการในแต่ละประเภทและระดับความรุนแรงของความพิการ (2) เพื่อสำรวจสถานการณ์การส่งเสริมการทำงานของคนพิการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และ (3) เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนพิการตลอดช่วงชีวิต การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสานวิธีแบบเป็นลำดับ เริ่มจากการวิจัยเชิงปริมาณและตามด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก โดยใช้การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ถูกจ้างงานหรือมีงานทำแบบรายได้ มีประมาณ ร้อยละ 51 ในขณะที่กลุ่มที่อยู่ในสถานะว่างงาน ไม่ได้ทำงาน ทำงานแบบไม่มีรายได้ มีประมาณ ร้อยละ 49 เมื่อพิจารณาความแตกต่างของประเภทความพิการ พบว่า กลุ่มที่เปราะบางที่สุด เป็นกลุ่มที่ไม่ถูกจ้างงานหรือไม่มีงานทำแบบมีรายได้ในสัดส่วนสูง ได้แก่ กลุ่มคนพิการทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก และกลุ่มคนพิการทางการเรียนรู้ กลุ่มคนพิการที่มีปัญหาในการเข้าสู่การทำงาน คือ กลุ่มวัยแรงงานต้นต้น (20-29 ปี) สะท้อนปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษาและตลาดแรงงานของคนพิการ ส่วนกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาลงมา มีสัดส่วนผู้ที่ไม่ถูกจ้างงานหรือทำงานแบบไม่มีรายได้มากกว่าครึ่ง คนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงการส่งเสริมการจ้างงานตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ได้ มีมากถึง ร้อยละ 80 สำหรับคนพิการที่ได้รับการส่งเสริมการจ้างงานตามมาตรา 35 ส่วนใหญ่ถูกจ้างแบบเหมาช่วง/จ้างเหมาบริการ ร้อยละ 68 และ กลุ่มคนพิการที่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงานเกือบ ร้อยละ 80 ไม่มีหลักประกันสังคมใดๆ ดังนั้น จำเป็นต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมความคุ้มครองทางสังคมด้านการทำงานของคนพิการทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : การสำรวจสถานการณ์การทำงานของคนพิการและการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม เพื่อคนพิการตลอดช่วงชีวิต | วารสารสังคมศาสตร์ปัญญาพัฒน์ (tci-thaijo.org)