บทบาทภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนนโยบาย
การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของไทย: กรณีศึกษา
ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

ผู้เขียน : ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี และผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข

บทคัดย่อ

แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เป็นฉบับแรกของไทย ด้วยการใช้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวและทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ให้ความสำคัญกับสมดุลสามส่วน ได้แก่ การสร้างหรือจัดการองค์ความรู้ การเคลื่อนไหวของสังคม และอำนาจรัฐ จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่าการศึกษานโยบายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยมักมุ่งเน้นวิเคราะห์ที่สาระของนโยบาย แต่ยังขาดการทำความเข้าใจบทบาทของผู้เกี่ยวข้องและกระบวนการทางนโยบาย โดยเฉพาะบทบาทภาคประชาสังคมในการร่วมผลักดันให้เกิดนโยบาย การทำความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยในการจัดทรัพยากรในหลายด้าน เพื่อสนับสนุนให้ประชาสังคมได้มีโอกาสมาร่วมทำงานเชิงนโยบายได้มากขึ้น บทความนี้เสนอบทบาทกรณีศึกษาของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ซึ่งทำหน้าที่ทั้งด้านวิชาการและในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับภาคีในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยจนสำเร็จ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ทำการศึกษาโดยการประมวลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาต่างๆ อธิบายกระบวนการทำงาน และวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งในการทำงานดังกล่าว สรุปผลสำคัญที่ได้พบว่า เครือข่ายประชาสังคมสามารถร่วมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลักดันนโยบาย ติดตามและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการทดสอบการตกค้างยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) ในเนื้อสัตว์ การรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ ให้ความรู้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ การทำงานขับเคลื่อน
ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรในพื้นที่ ข้อดีของประชาสังคม คือ มีความตั้งใจมุ่งมั่น คล่องตัว เข้าถึงชุมชน แต่มีข้อจำกัด
เช่น งบประมาณ อาจขาดการต่อเนื่อง เข้าไม่ถึงข้อมูล และการขาดองค์ความรู้ในบางกลุ่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุน
การสร้างเสริมสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานดังกล่าว

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://pirsquare.sgp1.digitaloceanspaces.com/thai-health/files/5c003c6b0c855eb13720a17d308dc1db