บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารปัญหาเด็กจมน้ำของผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก เด็ก และประชาชนทั่วไปโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยได้สุ่มเลือกจังหวัดตัวแทนภูมิภาค และกำหนดกลุ่มตัวอย่าง จำแนกเป็น เด็กอายุ 5-14 ปี รวม 4,000 ตัวอย่าง และประชาชนทั่วไป รวม 1,000 ตัวอย่าง การวิเคราะห์ผลการสำรวจใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) โดยการนำข้อมูลมาหาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ การแจกแจงความถี่และค่าร้อยละ
ผลการสำรวจ ในภาพรวมแล้วพบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไปมีการรับรู้ข่าวสารปัญหาเด็กจมน้ำในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี ในเกือบทุกประเด็น ยกเว้นเพียงบางประเด็นเท่านั้นที่พบว่า กลุ่มเด็กจะมีการรับรู้ปัญหาที่สูงกว่า ได้แก่ “การจมน้ำทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ตายมากเป็นอันดับหนึ่ง”, “วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ”, “แหล่งน้ำใกล้บ้าน ทั้งแอ่งน้ำ บ่อขุด สระน้ำ เป็นแหล่งที่เด็กจมน้ำตายมากที่สุด” นอกจากนี้ผลการสำรวจยังบ่งชี้ได้ว่า ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารให้เกิดความรับรู้และเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วไปเนื่องจากมีสัดส่วนการรับรู้ในประเด็นดังกล่าวค่อนข้างน้อยในทั้งสองกลุ่ม ได้แก่
“วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ” เด็กที่รับรู้มีร้อยละ 12.70 ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปรับรู้เพียง ร้อยละ 9.30
เมื่อช่วยคนจมน้ำขึ้นมาบนฝั่งแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อุ้มพาดบ่าแล้วกระแทกเอาน้ำออก (ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง) นั้น พบว่า มีเด็กร้อยละ 56.28 และประชาชนทั่วไปถึงร้อยละ 71.60 รับรู้รับทราบว่าเป็นวิธีการปฏิบัติถูกต้องในการช่วยเหลือคนจมน้ำ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so03.tci-thaijo.org/index.php/papojournal/article/view/195129