พัฒนาการของช่องทางในการแสดงออกทางการเมืองในสื่อออนไลน์ ช่วง พ.ศ.2557-2560

ผู้เขียน: วุฒิพล วุฒิวรพงศ์ และกิ่งกาญจน์ จงสุขไกล

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของช่องทางในการแสดงออกทางการเมืองในสื่อออนไลน์ ช่วง พ.ศ.2557-2560 ซึ่งเป็นช่วงนับตั้งแต่การเกิดรัฐประหารในประเทศไทย ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารทุติยภูมิ โดยเฝ้าดูปรากฏการณ์ของการแสดงความเห็นทางการเมือง ในแต่ละแพลทฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในห้วงเวลาดังกล่าว ทั้งแพลทฟอร์มหลักและแพลทฟอร์มรอง

             ผลการศึกษาพบว่า กรณีแพลทฟอร์มหลัก เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการแสดงออกทางการเมืองที่สามารถรองรับกระแสความสนใจทางสังคมและการเมืองของผู้คนในสังคมไทยอย่างมาก ยูทูป มีจุดเด่นในการอธิบายด้วยภาพและเสียงที่ไม่ต้องผ่านการอ่าน ทำให้เข้าถึงผู้ใช้ผู้รับชมจำนวนมาก กรณีแพลทฟอร์มรอง ทวิตเตอร์ มีความสำคัญต่อการเมืองไทยในฐานะที่นักการเมืองไทยรุ่นใหม่เคยใช้และเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นในปัจจุบัน ส่วนอินสตาแกรมได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมี “แฮชแท็ก” หรือคำสำคัญ เพื่อแสดงเสียงสนับสนุนและเจตนารมณ์ร่วมกัน ส่วนไลน์ (Line) ซึ่งเป็นการสื่อสารจากผู้ใช้สู่ผู้ใช้นั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อมีการควบคุมเนื้อหากับพื้นที่เฟซบุ๊กที่ทำให้การแบ่งปันส่งต่อกลายเป็นความผิดและสามารถถูกดำเนินคดีได้ ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นและเนื้อหาทางการเมืองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาบนเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานในประเทศไทยเป็นไปได้น้อยลง นำไปสู่การเติบโตของโปรแกรมสนทนา (Instant Messenger) แบบกลุ่มปิด (Private Group) รวมถึงการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเพื่อซ่อนการเข้าถึงจากสาธารณะ (Privacy Setting) และการปิดบังอัตลักษณ์ของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสอดส่องและการถูกตรวจสอบ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so03.tci-thaijo.org/index.php/papojournal/article/view/213695