พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการใช้น้ำมันทอดอาหาร : กรณีศึกษา อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

ผู้เขียน: บวร ทรัพย์สิงห์, วิชยา โกมินทร์, ณิชยา ประดิษฐ์ทรัพย์, กิ่งกาญจน์ จงสุขไกล, วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกูล, วิทยา กุลสมบูรณ์ และวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานการณ์ และพฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดซ้ำของผู้ประกอบการ จำนวน 49 ร้านค้า และผู้บริโภคทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสีชัง จำนวน 176 คน และ 49 คน ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการใช้แบบสำรวจ สัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม

ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคในเกาะสีชังทั้งประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวนิยมซื้ออาหารทอดมารับประทาน ร้อยละ 29.05 และ ร้อยละ 20.54 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอาหารทอดในเกาะสีชัง ระบุว่าตนเองมีการเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารใหม่ทุกครั้งคิดเป็นร้อยละ 22.58 ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลือ ระบุว่าตนเองใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำโดยมีรูปแบบการใช้น้ำมันซ้ำที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ การใช้ซ้ำ 1-3 ครั้ง โดยไม่เติมน้ำมันใหม่ลงไปผสม (ร้อยละ 35.48) การใช้ซ้ำโดยเติมน้ำมันใหม่เข้าไปทุกครั้ง หรือเติมเมื่อไม่พอทอด    (ร้อยละ 22.58) การใช้ซ้ำโดยเติมน้ำมันใหม่สำหรับการทอด 1-3 ครั้ง (ร้อยละ 14.52) และเติมน้ำมันใหม่จนพบว่าน้ำมันมีสีคล้ำ มีควัน หรืออาหารทอดมีกลิ่นผิดปกติ (ร้อยละ 4.84)

นอกจากนี้เมื่อไม่ใช้น้ำมันทอดแล้ว ประชาชนในเกาะที่ประกอบอาหารเองในครัวเรือนส่วนใหญ่ทิ้งน้ำมันในภาชนะปิดสนิทและทิ้งลงถังขยะ (ร้อยละ 28.98) ในขณะที่ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 46.43) นำน้ำมันที่ใช้แล้วไปจำหน่ายต่อให้กับคนที่มารับซื้อในราคาปี๊บละ 100-400 บาท และผู้ประกอบการบางส่วน ยังคงทิ้งน้ำมันไม่ถูกต้อง เช่น เททิ้งลงท่อระบายน้ำ พื้นดิน ลงทะเล โพลงหิน ทิ้งรวมกับเศษอาหาร หรือนำไปปรุงอาหารหรือประกอบอาหารต่อที่บ้าน ปริมาณการทิ้งน้ำมันและการขายน้ำมันทอดอาหารเฉลี่ยร้านค้าละ 18.83 และ 23.57 ลิตรต่อเดือน

ผลของการทดสอบน้ำมันด้วยชุดทดสอบสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำในเกาะสีชัง พบว่า คุณภาพน้ำมันของร้านค้าในวันหยุดปกติ มีน้ำมันใกล้เสื่อมสภาพและเสื่อมสภาพ ในขณะที่การทดสอบในช่วงวันหยุดต่อเนื่องกลับพบว่า มีน้ำมันใกล้เสื่อมสภาพและเสื่อมสภาพแล้วเพิ่มมากขึ้น

ความเสื่อมสภาพของน้ำมันทอดในพื้นที่เกาะสีชังดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อ ประชาชน ในพื้นที่เกาะและพื้นที่ภายนอก จึงควรหาแนวทางให้ความรู้กับประชาชนและผู้ประกอบการในการใช้น้ำมันและกำจัดน้ำมันเสื่อมสภาพอย่างเหมาะสมในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so04.tci-thaijo.org/index.php/swurd/article/view/123700