ความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูชุมชนจากภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย

ผู้เขียน: กิ่งกาญจน์ จงสุขไกล

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูชุมชนจากภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ พื้นที่ศึกษาประกอบด้วย ชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 ชุมชนคือ ชุมชนประตูจีน (เขตเมือง) และบ้านภูเขาทอง (เขตชนบท) ชุมชนในจังหวัดน่านจำนวน 2 ชุมชนคือ ชุมชนภูมินทร์-ท่าลี่ (เขตเมือง) และบ้านห้วยก๋วง-ดงป่าสัก (เขตชนบท) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสำรวจ จำนวน 342 ครัวเรือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และระดับความสามารถในการรับมือและฟื้นฟู

ผลการศึกษา พบว่า ชุมชนมีความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูจากภัยพิบัติน้ำท่วม ในมิติด้านสภาพแวดล้อม มิติด้านกายภาพ และมิติด้านสถาบัน ในระดับต่ำ (UNDP และอิงการกระจายตัวของค่าเฉลี่ยคะแนน) มิติด้านสังคม ระดับต่ำ (UNDP)-ปานกลาง (อิงการกระจายตัวของค่าเฉลี่ยคะแนน) ส่วนมิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านทุนชุมชน ระดับปานกลาง (UNDP)-สูง (อิงการกระจายตัวของค่าเฉลี่ยคะแนน) ดังนั้น แนวทางในการรับมือและฟื้นฟูชุมชนจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนจึงควรจัดทำแผนการรับมือและฟื้นฟูแบบครบวงจร ตลอดจนประเมินความเปราะบางและความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูจากภัยพิบัติทั้งระดับครัวเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง และนำผลที่ได้ไปใช้วางแผนและจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและฟื้นฟูชุมชนจากภัยพิบัติน้ำท่วม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so03.tci-thaijo.org/index.php/papojournal/article/view/122343