การผสมผสานวิถีปฏิบัติและประเพณีทางพุทธศาสนาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา : การส่งเสริมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรม

ผู้เขียน: พินิจ ลาภธนานนท์

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผสมผสานวิถีปฏิบัติและประเพณีทางพุทธศาสนาในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม โดยใช้พื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
เป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อวิเคราะห์แนวทางการสร้างเสริมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในบริบทพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเมียนมา ผลการศึกษาพบว่าการดำเนินมาตรการเพื่อสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนน่าจะมีความเป็นไปได้ง่ายขึ้นสำหรับประเทศสมาชิกที่มีศาสนานิกายเดียวกัน เพราะปัจจัยทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นสื่อสำคัญที่จะเชื่อมประชาชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ดังจะเห็นได้จากแบบแผนบูรณาการการสร้างและใช้พื้นที่ทางศาสนา ตลอดจนการผสมผสานวิถีปฏิบัติและประเพณีทางศาสนาทั้งในหมู่พระสงฆ์และพุทศาสนิกชนชาวไทยและชาวเมียนมา ความรู้ความเข้าใจต่อแนวทางการบูรณาการและผสมผสานวิถีปฏิบัติและประเพณีทางศาสนาในพื้นที่ชายแดนแม่สอดจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเป็นฐานคิดในการสร้างเสริมให้คนไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นพลเมืองอาเซียนอย่างมีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่าเทียมกับชาติอื่นภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jssr/article/view/240073