ความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบางที่เกิดจากหนี้นอกระบบในสังคมไทย

ผู้เขียน: ศยามล เจริญรัตน์ , วิชัย สุวรรณประเสริฐ และไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

บทคัดย่อ

สถานการณ์ความยากจนและภาวะความเป็นหนี้ในสังคมไทยเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆสภาวการณ์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบที่สร้างความเหลื่อมล้ำและเปราะบางต่อประชากรจำนวนมาก วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อ แสดงสถานการณ์และปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย โดยเฉพาะที่ส่งผลต่อการสร้างสร้างความเปราะบางและเหลื่อมล้ำในสังคม และเพื่อสร้างมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณและคุณภาพ จาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสำรวจแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างผู้เป็นหนี้ จำนวน 4,709 ตัวอย่าง และการสนทนากลุ่ม จำนวน 18 ครั้ง ร่วมกับการสัมภาษณ์กรณีศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจำนวน 66 กรณีศึกษา บทความนี้ชี้ว่า ผู้มีรายได้ประจำที่เป็นผู้มีความมั่นคงทางรายได้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และผู้ไม่มีความมั่นคงทางรายได้ ประกอบด้วย ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท รวมถึงผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง และไม่มีรายได้จะประสบปัญหาหนี้นอกระบบและมักตกอยู่ในความเปราะบาง โดยกลุ่มหลังจะมีปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงกว่า ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายในครัวเรือนเป็นสาเหตุหลักร่วมกับปัญหาค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็น และปัญหาพฤติกรรมยังส่งผลต่อการสร้างหนี้นอกระบบในสังคมไทย เงื่อนไขของหนี้นอกระบบ และปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างยังส่งผลให้ปัญหาหนี้นอกระบบยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยรวมถึงสร้างความเปราะบางและขยายความเหลื่อมล้ำให้กว้างมากขึ้น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องเกิดจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นระบบมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและรายกรณี

อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.researchgate.net/profile/Sayamol_Charoenratana/publication/309424138_Inequality_and_Vulnerability_among_Informal_Debt_in_Thai_Society/links/595afc9a45851511773d34d0/Inequality-and-Vulnerability-among-Informal-Debt-in-Thai-Society.pdf